top of page

ความรักของเธอ เขา และฉัน: สายสัมพันธ์ที่พรุ่งนี้อาจไม่มีความหมาย


วันพรุ่งนี้คือผืนผ้าว่างเปล่าใบใหญ่ที่รอสีสันของความเป็นได้เข้ามาแต่งเติม หลายครั้งที่มันคือโอกาสและการเริ่มต้นใหม่ แต่ก็มีอีกหลายหนเช่นกันที่มันนำพาซึ่งความเจ็บปวดและไม่แน่นอน บางคนจึงหวาดกลัววันพรุ่งนี้ ในขณะที่บางคนพร้อมโอบรับมันไว้อย่างทะนุถนอม

แต่จะเป็นอย่างไรหากเราใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงวันพรุ่งนี้...?


Love on The Street ขอชวนทุกคนพูดคุยกับ “คุณอัจฉรา สรวารี” เลขาธิการของมูลนิธิอิสรชนถึงวันพรุ่งนี้ที่อาจไม่มีอยู่จริงของคู่รักคนไร้บ้าน


..........................................


จากเด็กฝึกงาน สู่เลขาธิการของอิสรชน




หากถ้าใครเดินทางไปบริเวณตรอกสาเก แขวงวัดบวรนิเวศในวันอังคาร อาจจะพบกับซุ้มแจกอาหารที่มีผู้หญิงคนหนึ่งยืนประจำอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เธอมักจะใส่เสื้อสกรีนของมูลนิธิอิสรชน พูดคุยกับคนไร้บ้านอย่างสนิทชิดเชื้อ ผู้หญิงคนนี้คือ “อัจฉรา สรวารี” หรือ “พี่จ๋า”

พี่จ๋าเริ่มทำงานที่มูลนิธิอิสรชนในปี 2550 จากการฝึกงานครั้งยังเป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบ เธอเลือกกลับมาทำงานที่อิสรชนอีกครั้ง ต่อมาภายหลังจากเสียชีวิตของคุณนที สรวารี สามีของเธอผู้เป็นอดีตเลขาธิการของมูลนิธิเดียวนี้ เธอก็รับสืบทอดหน้าที่ต่อ นับรวมแล้วเป็นเวลามากถึง 16 ปีที่พี่จ๋าเข้ามาช่วยเหลือคนไร้บ้าน โดยเธอยึดคติว่าจะต้องดูแลพวกเขาเหมือนที่เราดูแลเพื่อน


“เราเน้นให้เค้าช่วยเหลือตัวเอง แต่เราเป็นแค่กระบอกเสียง สปีกเกอร์ให้เค้า เหมือนเป็นช่องทาง เหมือนเป็นเพื่อน เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้มาในบทบาทของเจ้าหน้าที่แบบ เฮ้ย ฉันมาลงมาตรวจอะไรแบบนั้น แต่มันจะเป็นสัมพันธภาพที่มีความผูกพันแบบเพื่อน”


เธอเชื่อว่าแนวทางความสัมพันธ์แบบเพื่อนนี้จะช่วยให้คนไร้บ้านเปิดอกพูดคุยกับเธอได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ยิ่งทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขามากขึ้น


..........................................


รักไร้นิยามของคนไร้บ้าน


“ความรักของคนในที่สาธารณะมันเป็นความรักที่มันไม่มีคำนิยาม ไม่มีอะไรเลย มันมีแค่ฉันถูกใจเธอ เธอถูกใจฉัน แล้วบทบาทมันไม่มีตายตัว เพราะเค้าไม่มีวันพรุ่งนี้ เค้าไม่มีความฝัน เค้าแค่รู้สึกว่า วันนี้คนนี้ดูแลฉัน วันนี้คนนี้ปกป้องฉัน วันนี้คนนี้อยู่กะฉัน แค่นั้นจริงๆ”

พี่จ๋าพูดถึงลักษณะความรักของคนไร้บ้าน ความลำบากยากแค้นทำให้ผู้ใช้ชีวิตข้างถนนจำต้องสนใจเอาตัวรอดในแต่ละวันให้ได้ก่อนจะคิดถึงวันพรุ่งนี้ ด้านความรักก็เช่นเดียวกัน รักของคนไร้บ้านคือรักที่ยึดความรู้สึกปัจจุบันเป็นสำคัญ พวกเขาจึงเริ่มก้าวออกจากกรอบสังคมทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องสนใจสายตาใครในวันข้างหน้า


“มันเหมือนไม่ได้มีวันพรุ่งนี้ ไม่ได้คิดว่า เฮ้ย ฉันจะอยู่กับคนนี้ไปแล้วฉันจะต้องอยู่กินกับเค้าไปตลอด เพราะเค้าอยู่ในอีกกรอบสังคมหนึ่งที่ไม่ใช่กรอบสังคมเรา นับถือเค้านะในการก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นโดยไม่แคร์สายตาว่าใครจะมองยังไง”


พี่จ๋าขยายความคำว่า “ไม่ใช่กรอบสังคมของเรา” โดยการอธิบายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่เธอเรียกว่าเป็น “ใยแมงมุม” ให้ฟังว่า ในคู่รักคู่หนึ่งอาจมีการทับซ้อนความสัมพันธ์กับคู่รักอีกคู่หนึ่งได้ อีกทั้งบทบาทของเพศชายหญิงที่สังคมกำหนดก็ค่อยๆ ถูกทำให้จางลง


“ผู้หญิงคนนี้ทำหน้าที่เป็นเมียของผู้ชายคนนี้ ทำหน้าที่เป็นเมียของผู้ชายคนนั้น ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นสามีของผู้หญิงก็ได้ หรือเป็นสามีของผู้ชายอีกคนก็ได้ แค่ความพึงพอใจว่าฉันจะอยู่ในบทบาทไหน เพศสภาพอะไร”


เคยมีกรณีหนึ่งที่พี่จ๋าจำได้ไม่ลืม เมื่อนานมาแล้วมีคู่รักบริเวณสนามหลวงคู่หนึ่งตั้งท้อง ฝ่ายหญิงบอกฝ่ายชายว่านี่ไม่ใช่ลูกของเขา เพราะเธอช่วงที่ตั้งท้อง เธอนอนกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง แม้ฝ่ายชายจะรู้จะว่าเด็กที่เกิดไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตน แต่เขายังคงเลี้ยงดูเด็กคนนี้ประหนึ่งลูกแท้ๆ เมื่อใช้แว่นของคนทั่วไปมองก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรม นี่คือการนอกใจ แต่เมื่อพวกเขาอยู่นอกกรอบสังคมแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ถูกยอมรับได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพี่จ๋าจะมองภาพรวมว่ารักข้างถนนมักจะอยู่ในรูปแบบข้างต้น แต่เพราะมนุษย์มีความหลากหลาย จึงปรากฏให้เห็นคนไร้บ้านที่มีรักยืนยาวและมั่นคงกับคนคนเดียวด้วยเช่นกัน


“มันจะมีคนที่รักกันไปนานๆ ไหม ก็มีนะ บางคู่เค้าก็อยู่ด้วยกัน จริงอยู่ที่เค้าจะไม่คิดถึงวันพรุ่งนี้ แต่เค้าก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนคู่นอนได้วันต่อวัน บางคนถึงขนาดที่มีลูกและกลับไปสร้างครอบครัวก็มี”


..........................................


ความรุนแรงในชีวิตคู่ เงื่อนไขที่รู้และยอมรับได้


ภาพโดย Nino Carè จาก Pixabay


การดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไร้บ้าน สิ่งมึนเมาชนิดนี้มีหลากหลายคุณภาพและราคาให้เลือกสรรตามกำลังซื้อ เมื่อมีเงินจับจ่ายค่าสุราแล้ว บ่อยครั้งที่พวกเขาจะนั่งตั้งวงและคุยเรื่องสัพเพเหระ นี่คือความสุขเล็กๆ ที่พอจะสร้างได้บนบาทวิถี

แต่ผลพวงของการดื่มคืออาการขาดสติและความยับยั้งชั่งใจ พลาดพลั้งใช้กำลังกับเพื่อนหรือคู่ของตนได้ ถึงอย่างนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนไร้บ้านล้มเหลว พี่จ๋าอธิบายว่าการใช้ความรุนแรงในกลุ่มคู่รักเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อฝ่ายหนึ่งเมาสุรา


“บางทีสิ่งที่มันเลวร้าย อาจจะไม่ได้รุนแรงกับคนคนนั้นในความรู้สึก อย่างเราถ้าใครทำร้ายเรา เราก็ไม่เอาอยู่แล้ว มันคือนิยามของเรา และเรายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เรากำลังจะไปตัดสินอีกคนหนึ่งไม่ได้”

เธอให้เหตุผลว่าหากคนทั่วไปอยู่ในสถานะที่หากถูกทำร้ายแล้ว ก็เลือกเดินออกมาได้โดยไม่ต้องกังวลมากว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร ในทางกลับกัน คนไร้บ้านหลายคนเลือกที่จะอยู่ต่อเพราะมองว่าคู่ของตนมีข้อดีอย่างอื่นที่สำคัญกว่าในการดำรงชีวิต ท้องถนนเต็มไปด้วยภยันตราย ตราบใดที่มั่นใจว่าอีกฝ่ายสามารถปกป้องพวกเขาได้ การอยู่ด้วยกันก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า


..........................................


สวัสดิการรัฐที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและสร้างความสัมพันธ์


ภาพโดย 41330 จาก Pixabay


สังคมไทยมีภาพจำต่อคนไร้บ้านว่าเป็นคนสร้างปัญหา ไม่ทำงานเลี้ยงชีพ กินภาษีประชาชน โดยไม่ได้มองเห็นว่าสวัสดิการรัฐต่างหากที่เป็นปัญหา และที่จริงแล้วคนไร้บ้านก็จ่ายภาษีในรูปแบบของ VAT7% ด้วยเช่นกัน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์โควิดขึ้น ผู้คนถึงเข้าใจว่าเราสามารถข้ามเส้นเป็นคนไร้บ้านได้อย่างง่ายดาย


“ถ้าใครถามพี่ก็บอกว่าโควิดมันทำให้สปอร์ตไลต์ส่องมาที่เค้า เพราะทุกคนได้รู้ว่าตัวเองไม่มีสวัสดิการจากโควิดนี่แหละ ไม่มีความมั่นคงในชีวิตจากโควิด และทุกคนเร่ร่อนได้”


พี่จ๋าย้ำถึงโครงสร้างประเทศที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่แรก การศึกษาไทยไม่ได้สอนให้คิดวิเคราะห์ เมื่อเจอคนไร้บ้าน แทนที่จะตั้งคำถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น คนกลับตั้งแง่ใส่แทน แต่เมื่อพบกับโควิดพวกเราถึงรู้ว่ารัฐบาลไม่มีสวัสดิการรองรับความเป็นตายของพวกเราเลย เมื่อนั้นการเชื่อมโยงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจระหว่างตัวเองและคนไร้บ้านจึงเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ระบบสวัสดิการรัฐยังไม่เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์เชิงครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อเป็นคนชายขอบแล้ว การสนับสนุนจากรัฐยิ่งฟังดูเป็นไปได้เพียงแค่ในฝัน


“พี่มองว่ามันเป็นปลายปัญหาของระบบสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดมา คุณภาพการเลี้ยงลูก การเข้าสู่การศึกษา เรียนฟรีแต่ได้เรียนฟรีจริงไหม เด็กออกกลางคันเท่าไหร่ แล้ว ณ วันนี้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่มีสวัสดิการอะไรดูแลนะ บางทีเราจะเห็นภาพพ่ออุ้มลูกไปทำงาน เพราะรายได้วันหนึ่งก็สูงสุดแค่ 15,000 18,000 ของปริญญาตรี มันต้องมีรายได้เสริมอื่นอีก รายได้ทางเดียวไม่พอ”


ทุกวันนี้มีเด็กที่ตัดสินใจออกจากระบบการศึกษามาใช้ชีวิตข้างถนนเพราะปัญหาเรื่องเงิน บ้างก็เป็นเพราะโครงสร้างครอบครัวที่ไม่เข้มแข็ง พี่จ๋าชี้ว่าโนบายจากพรรคต่างๆ มักเน้นไปที่การให้เงินมากกว่าการแก้ระบบเชิงโครงสร้าง ปัญหานี้จึงยังคงอยู่


“จะบอกว่าเงินสำคัญไหม ก็สำคัญ แต่ว่าต่อให้คุณให้เงิน 50,000 บาท คุณคิดว่าพอในการดูแลไหม มันควรจะมีสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมที่มันดูแลหรือสอดคล้อง เด็กที่ออกกลางคันเราจะทำยังไงกับเค้า จะทำยังไงให้อยู่ได้”


รัฐบาลจึงเป็นหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหานี้ หากมองเห็นความบกพร่องในเชิงโครงสร้างและสามารถเข้าไปแก้ไขได้ ปรับรัฐสวัสดิการให้สมดุลยิ่งขึ้น ความมั่นคงของคนจนเมืองก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นี่จะเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการลดปัญหาคนไร้บ้านต่อไป


bottom of page