การมีหน้าที่ต้องดูแลใครสักคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายครั้งมันได้สร้างคุณค่าต่อชีวิตของผู้ดูแล และถูกดูแล อีกทั้งยังมอบความหมายใหม่ให้กับชีวิตได้อีกด้วย
Love on The Street ขอชวนทุกท่านรู้จักกับพี่ยา-พี่ต้น คู่รักคนไร้บ้านที่เดินทางไกลมาจากหนองบัวลำภูเพื่อแสวงหางานและโอกาสในกรุงเทพฯ แม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหน พวกเขาก็ปล่อยมือกันไม่ได้เพราะ “พันธะ” ที่ต่างมีซึ่งกันและกัน
..........................................
จากหนองบัวลำภูสู่ความผิดหวังในเมืองกรุง

ภาพโดย Markus Winkler จาก Pixabay
พี่ยา(นามสมมติ)และพี่ต้น(นามสมมติ)เป็นชาวหนองบัวลำภู อายุ 50 และ 42 ปีตามลำดับ ทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกันตั้งแต่ปี 2550 และมีลูกชายหนึ่งคน ดูแล้วก็ไม่แตกต่างกับครอบครัวอื่นๆ ในละแวกเดียวกันมากนัก จนกระทั่งทั้งสองตัดสินใจออกเดินทางจากบ้านเกิดเข้าไปหาโอกาสทำงานในกรุงเทพฯ
ทว่าชีวิตในเมืองหลวงไม่ได้สวยหรูอย่างที่จินตนาการไว้ เพราะเมื่อพี่ยาและพี่ต้นได้ทำงานก่อสร้างตามที่ถูกจ้างวาน สองสามีภรรยากลับถูกโกงค่าแรง
“เราออกมาจากที่นั่น(หนองบัวลำภู)ใช่ไหม ก็คือไม่ได้ศึกษาไม่ได้เรียนรู้อะไร มันก็คือแค่คนโง่อะ แล้วออกไปก็โดนคนรอบรู้ รู้มากมาหลอกเรา อย่างทำงานได้ 9 วัน 7 วันเค้าก็ให้แค่ 5 วัน 6 วัน”
พี่ยาพูดเชิงตัดพ้อ ทั้งเธอและพี่ต้นต่างรู้สึกไม่เป็นธรรมเมื่อต้องใช้แรงงานเกินกว่าเงินที่ได้รับ พวกเขาจึงออกจากงานแล้วแสวงหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ จนแล้วจนรอดก็ไม่พบที่ทางที่ใช่เสียที นานวันเข้าการเงินก็ร่อยหรอ จนท้ายที่สุดก็ต้องออกมาอาศัยอยู่ที่ข้างถนน
เมื่อกลายเป็นคนไร้บ้าน พี่ยาและพี่ต้นจำต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงและการเลือกปฏิบัติ ถูกมองในเชิงลบ ได้ยินคำพูดที่ไม่ดีจากปากผู้ประสงค์ร้าย จนพี่ยาอดพูดขึ้นมาไม่ได้ว่า
“ทำไมคนสมัยนี้มันเห็นแก่ตัวนะ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยเค้าก็ว่าสมน้ำหน้าพวกเร่ร่อน พอออกไปหางานทำเค้าก็หัวเราะ”
..........................................
4 เดือนกับการปรับตัวเข้าสู่วิถีในที่สาธารณะ
“เรามาได้ 4 เดือนเอง แต่เราก็ทำงานขายของนะคะ เรายังมีความผูกพันที่นี่ เราก็อยากอยู่นี่เนอะ เราก็หารายได้อื่นเข้ากระเป๋า หากินนู่นนี่ก็คือขายของ พี่ก็จะจับของชิ้นละ 15 บาทมาขายชิ้นละ 20 อย่างนี้ วันละร้อยกว่าบาท สองร้อย ก็อยู่กินได้ เพราะว่าเราก็ต่อแถวรับข้าวมูลนิธิด้วย”
พี่ยาเล่าถึงที่มาของรายได้หลังจากเปลี่ยนมาใช้ชีวิตบนที่สาธารณะ สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของทั้งคู่ไว้คือข้าวแจกฟรีและการจับของไปขายต่อ คำว่าจับของในที่นี้หมายถึงการซื้อสินค้ามือสอง ทำความสะอาด แล้วนำมาขายเอากำไร โดยคนทำหน้าที่ขายของประจำมักจะเป็นพี่ต้น สลับกับพี่ยาบ้างในบางคราว
ในหนึ่งวันของพี่ยา เธอมักจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิล้างถ้วยชาม ทำความสะอาดบริเวณที่พักอาศัย เพราะเธอมองว่าผู้หญิงทำงานบ้านได้ละเอียดกว่าผู้ชาย และตนก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว ควรช่วยเหลือมูลนิธิบ้างจึงอาสารับหน้าที่นี้ ส่วนพี่ต้นมีภาระหน้าที่หนักกว่า นอกจากจะต้องขายของแล้วยังมีงานอื่นๆ รออยู่อีก
“เค้าเหนื่อยกว่าพี่อีก เค้าเป็นผู้ชาย เก็บของ ทิ้งขยะ เก็บรถเข็น แล้วก็เข้าวัด เค้ามีงานประจำที่วัดอยู่แล้ว”
พี่ยาพูดแกมชื่นชมพี่ต้นกลายๆ งานประจำของวัดที่ว่านี้คือการทำความสะอาดห้องน้ำ กวาดใบไม้ และล้างจาน แม้จะได้ค่าตอบแทนบ้างไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
“ได้เงินมาส่วนมากไม่ได้แบ่งกัน เพราะว่าผมเป็นคนเก็บ”
พี่ต้นว่า เขาเป็นคนเงียบๆ นานๆ ทีถึงจะพูด แต่ท่าทางดูใจดี ขณะที่พี่ยากล่าวเสริมขึ้นมาว่าที่สามีเป็นผู้เก็บเงินนั้นเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายของเธอเอง
“พี่เป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ ซื้อนั่นซื้อนี่หมด พี่เป็นคนกินเก่ง”
พี่ยาว่า ฟังแล้วพี่ต้นก็หัวเราะเบาๆ บอกว่าถ้าให้พี่ยาเก็บเงินคงไม่เหลือ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเงินจะอยู่ที่พี่ต้นเพียงคนเดียว แต่พี่ยาก็บอกว่าเธอขอเงินสามีได้ ถ้าไม่สบายพี่ต้นก็จ่ายให้
..........................................
พันธะผูกติด คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

“อยู่คนเดียวมันเหมือนคนไม่มีพันธะ ไม่มีความรับผิดชอบ”
พี่ยาอธิบายแนวคิดของเธอว่าทำไมถึงชอบใช้ชีวิตคู่กับสามี แม้บางคนจะชอบอยู่เป็นโสด แต่พี่ยามองว่าการรับผิดชอบอะไรบางอย่างเป็นเรื่องสำคัญ พี่ต้นทำให้เธอได้รู้ว่าเธอมีหน้าที่อะไร ต้องดูแลใคร เสมือนว่าเป็นคนที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย
“เหนื่อยหน่อยนะถ้าเรามีคู่ หรือว่าเค้าเรียกโง่ ถ้ามีผัวแต่งงานแบบนี้เรียกโง่แล้ว”
พี่ยาพูดติดตลก พร้อมทั้งย้ำว่าถึงจะการมีคู่จะดูโง่แต่ก็เป็นการโง่ที่คุ้มค่า เธอบอกว่าไม่ได้คาดหวังอะไรจากพี่ต้นมากนัก
“เค้าก็แค่อยู่เคียงข้างเรา แค่เป็นห่วง แค่นั้นก็พอแล้ว”
ด้านพี่ต้นก็พูดในทำนองเดียวกันว่ารู้สึกเป็นห่วงพี่ยา สำหรับพี่ต้นแล้ว พันธะของเขาคือความห่วงใยต่อภรรยาที่ช่วยผลักดันให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง
..........................................
พร้อมเมื่อไหร่ ค่อยกลับบ้าน
“ก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร ก็มีความสุขดีอะ แต่ถามว่าเราจะอยู่นี่ไปตลอดไหม ไม่อยาก ก็คิดว่าอาจจะเป็นเดือนนี้ เดือนหน้าอย่างนี้ เราอาจจะเบื่อ จะไปหาประสบการณ์หางานอื่นทำ เราจะไม่จมอยู่กับที่นี่นาน”
พี่ยาชิงพูดก่อนที่จะถูกถามอะไรขึ้นมา ราวกับจะบอกว่าตัวเองยอมรับสภาพที่เป็นอยู่
“เป็นคนมีบ้านนะ แต่พร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับไป”
พี่ยาย้ำเรื่องบ้านอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่ในบ้านมีลูกชายผู้เริ่มโตเป็นหนุ่มอาศัยอยู่ ทั้งนี้พี่ยาและพี่ต้นไม่เคยบอกว่าทำไมถึงไม่พร้อมกลับบ้าน
อย่างไรก็ตามไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร Love on The Street ขอภาวนาให้พี่ยาและพี่ต้นได้พบกับบ้านที่ยินดีต้อนรับพวกเขาได้ด้วยใจจริง