top of page

พี่เล็ก – พี่สิงห์ : ความรักกับความทุกข์ และการหาความสุขบนเส้นทางผู้พิการ

มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกถึงมันได้ เมื่อแต่ละคนต่างอยู่ในกรอบที่แตกต่างกัน หลายครั้งมันจึงกลายเป็นกับดักทางความคิดที่ปิดให้เราไม่เห็นความสำคัญของตัวเอง

Love on The Street ขอชวนทุกท่านทำความรู้จักกับเรื่องราวของพี่เล็ก - พี่สิงห์ คู่รักคนไร้บ้านที่ประสบปัญหาการมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง


..........................................


พี่เล็ก: เมื่อความพิการทำให้ทรมานเพราะเป็นภาระ


ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay


พี่เล็ก(นามสมมติ)เป็นหญิงพิการวัย 51 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตาก แกเคยแต่งงานมีลูก 4 คน แต่แล้วก็หย่าร้างกับสามี พี่เล็กทรมานจากโรคกระดูกทับเส้น ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ในขณะที่ลูกๆ ของแกต่างก็กำลังมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง พี่เล็กจมอยู่กับความคิดว่าตนทำงานไม่ได้ ต้องเป็นภาระของลูกหลาน แกจึงตัดสินใจหนีออกมาจากบ้าน

พี่เล็กใช้ชีวิตบริเวณสนามหลวงเหมือนกับคนไร้บ้านหลายๆ คน ตรงข้ามริมคลองอีกฝั่งหนึ่งนั้นคือที่อยู่ของ “พี่สิงห์” ต่อมาไม่นานทั้งคู่ก็เจอและทำความรู้จักกัน แล้ววันหนึ่งพี่สิงห์ก็ชวนพี่เล็กไปอยู่ด้วย


“พี่สิงห์เค้าชวนไปอยู่ เค้าดูดูแลเราได้ก็เลยไปอยู่ด้วย”


ในตอนแรกที่พี่เล็กตกลงไปด้วยนั้นมาเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของตน แต่พอเริ่มอยู่ด้วยกันก็ค่อยๆ เกิดความผูกพันขึ้น


..........................................


พี่สิงห์: เมื่อตั้งใจจะดูแลเขา เราต้องทำให้ดีที่สุด


พี่สิงห์(นามสมมติ)เป็นชายมุสลิมวัย 56 ปีจากจังหวัดพิจิตร แกตั้งใจมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่พอข้าวของหายยืนยันตัวตนไม่ได้ แกก็หลุดออกจากระบบรัฐสวัสดิการ พี่สิงห์ไม่ได้เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังมากว่าแกมาจบลงที่การเป็นคนไร้บ้านได้อย่างไร เพราะชีวิตพี่สิงห์มักจะยุ่งอยู่เสมอ เช่น ครั้งล่าสุดที่เราพูดคุยกับพี่เล็ก แกก็โผล่หน้ามาให้เห็นแค่ครั้งสองครั้งก่อนจะก็หายไป พี่เล็กอธิบายว่าตอนนั้นพี่สิงห์กำลังวุ่นวายกับการเก็บของเก่าที่ถูกทิ้งอยู่ จึงไม่ว่างมาเข้าร่วมวงสนทนาด้วย

ถึงแม้จะไม่ได้คุยกับพี่สิงห์บ่อยๆ กระนั้นเราก็ยังได้เห็นมุมอื่นๆ ของแกบ้าง ครั้งหนึ่งแกนั่งอยู่ไม่ไกลมาก พูดจาฉะฉานเพื่อให้สัมภาษณ์คนที่ลงมาเก็บข้อมูลอย่างภาคภูมิใจว่า แกมีเมียที่พิการช่วงล่วง ขยับขาไม่ได้ แต่แกก็ดูแลเรื่องการขับถ่ายต่างๆ ให้เมียโดยไม่นึกรังเกียจเลย


“เห็นพี่สิงห์บอกว่าอยากดูแลคนนี้ บางทีมันอาจจะเป็นจุดของบั้นปลายชีวิต”


พี่จ๋า เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนผู้ให้การดูแลคนไร้บ้านย่านตรอกสาเก ได้กล่าวไว้ถึงความตั้งใจของพี่สิงห์


..........................................


บททดสอบของคนไร้บ้านผู้พิการ


โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาทที่พี่เล็กเป็นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มันจะค่อยๆ กัดกินร่างกายเรื่อยๆ ช่วงแรกของการเป็นคนไร้บ้านแกยังเดินได้อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเมื่อเวลาล่วงเลยไป พี่เล็กก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งและนอน


“นั่งอย่างนี้มันปวดนะ เข้าเส้นเข้ากระดูก เวลาปวดแล้วนอนไม่ได้เลยนะ ต้องคอยบีบคอยนวด กระดูกสันหลังปิดและแคบ เลือดเราหล่อเลี้ยงไม่ทัน ไปโรงพยาบาลกลางเค้าบอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือด อีกคนก็บอกว่ากระดูกเหมือนเปราะบาง”


นอกจากต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความผิดปกติของร่างกายแล้ว พี่เล็กยังต้องนั่งเผชิญสภาพอากาศที่บางทีก็ร้อนจัด บางทีก็ฝนตกโดยที่ลุกเดินหนีไม่ได้ พี่สิงห์จึงต้องคอยหาที่อยู่ให้พี่เล็กในยามที่สภาพอากาศไม่เป็นใจอยู่เสมอ


“พี่สิงห์เป็นคนทำงาน วันๆ เค้าไม่ค่อยได้มานั่งคุยกับพี่หรอก นอกจากจะเดินมาถามว่าหิวข้าวไหมแม่ ก็บอกว่ายังไม่กิน ใครเค้าจะมาคอยเปลี่ยนร่มเวลาแดดส่อง แต่แกก็จะย้ายร่มให้”

“เค้าทำให้รู้ว่าเค้าคงรักเราจริง เค้าช่วยเราทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นร่างกายส่วนตัว เสื้อพงเสื้อผ้าอะไรพวกนี้ เค้าดูแลให้หมด”


อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่พี่เล็กต้องเจอคือเทศกิจที่มักจะปรากฏตัวทุกวันจันทร์ พวกเขามีเป้าหมายในการทำพื้นที่ให้สะอาด แต่การทำความสะอาดนี้หมายถึงการทิ้งของใช้ส่วนตัวของคนไร้บ้านด้วย


“เทศกิจมาเก็บของ ทั้งยาทั้งโทรศัพท์ แล้วก็อะไรอีกล่ะ บัตรประชาชน ใบเอกสารที่มาจากโรงพยาบาลกลาง ใบส่งตัวอะไรพวกนี้ เค้าเอาไปหมดเลย พอถามคืนเค้าบอกว่าไม่เห็น หาไม่เจอ”

“เค้ามาเค้าก็เก็บกวาด พวกถนนพวกอะไรที่คนกินแล้วไม่ค่อยเก็บไม่ค่อยรักษาความสะอาด เค้าก็ไม่ให้คนนอน ให้คนนั่ง เรานั่งเล่นได้นั่งอะไรได้แต่ห้ามนอน ตีห้านี่ก็ต้องเตรียมเก็บข้าวเก็บของ เพราะแถวนี้ต้องโล่งหมด ทุกฝั่งต้องโล่งหมด นี่เค้าเอาเตียง(เปล)ไปด้วยนะ พอนอนพื้นมันลำบาก มันปวด”


แม้คนไร้บ้านจะทวงถามเทศกิจของของพวกเขา แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยได้อะไรกลับคืนมา สิ่งใดก็ตามอยู่บนพื้นมักจะถูกเหมารวมเป็นขยะ ต่อให้มันเป็นเอกสารราชการก็ตาม ผู้พิการที่ต้องรักษาพยาบาลอย่างพี่เล็กจึงต้องประสบความยากลำบากอย่างมาก เพราะเมื่อไม่มีบัตรประชาชน ก็จะรับสวัสดิการรักษาพยาบาลไม่ได้ รวมถึงถ้าไม่มีเอกสารจากโรงพยาบาลกลาง ก็ไม่มีข้อมูลบอกว่าเคยผ่านการรักษาแบบใดมาบ้าง


..........................................


ฉันจะมีค่าไหม หากช่วยอะไรเธอไม่ได้



พี่เล็กมักเคลือบแคลงใจถึงคุณค่าของตัวเองอยู่บ่อยๆ แกเป็นคนป่วยที่ต้องทานยา ขับถ่ายลำบาก ต้องให้คนอุ้มและประคองเมื่อไปที่ต่างๆ หนำซ้ำยังทำงานไม่ได้ แกจึงรู้สึกว่าตัวเองทำให้คนอื่นลำบาก และยิ่งไปกว่านั้นคือพี่เล็กช่วยเหลือใครไม่ได้เลย


“เค้าเก็บสะสมเงินไว้ พอดีอยากได้โทรศัพท์ เค้าก็เลยไปซื้อมาให้”


พี่เล็กเล่าถึงสิ่งดีๆ ที่พี่สิงห์เคยทำให้ แกรู้สึกแย่เมื่อคิดว่าคู่ชีวิตทำอะไรให้เยอะแยะ ทั้งที่จริงๆ แล้วพี่สิงห์เองเป็นฝ่ายเต็มใจและไม่ได้คาดหวังให้ตอบแทน


“มีแต่เค้าที่ทำให้ทุกอย่าง เราก็สบายอย่างเดียว อยู่กับเค้าบางทีก็เหมือนมีความสุข บางทีก็เหมือนมีความทุกข์ เพราะว่าเราช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้ ความทุกข์จากเค้ามันไม่มีหรอก มีแต่ความทุกข์จากเรา”


พี่เล็กเล่าเรื่องลูกสาวให้ฟังว่า ลูกของแกเรียนจบ มีแฟน ได้งานทำแล้ว แต่พี่เล็กยังคงรู้สึกผิดในฐานะแม่ที่ไม่ได้ส่งเสียลูก ทุกครั้งที่เล่าเรื่องลูก น้ำเสียงของพี่เล็กจะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจปนไปกับความเศร้า


“เป็นแม่ของลูก แต่ไม่เคยให้ตังค์ลูก ไม่เคยส่งเสียให้เค้าเรียนสูงๆ เค้าหาเงินของเค้าด้วยลำแข้งเค้าจริงๆ เค้าขายของในไลน์อะไรพวกนี้ เค้าขยัน”


ครั้นถามว่าอยากเจอกับลูกไหม แกก็ตอบตามตรงว่าแม้จะรัก แต่คงไม่อยากให้ลูกเห็นแกในสภาพนี้


“พูดตรงๆ นะ ไม่อยากให้เค้ามาหรอก มาเห็นแม่ก็กลัวลูกอาย รับปัญหาแม่ไม่ได้ ทำไมแม่ไม่อยากอยู่บ้าน”


การจะเปลี่ยนทัศนคติของพี่เล็กที่มีต่อตัวเองเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแกใช้ชีวิตอยู่กับความทุพพลภาพมาอย่างยาวนาน จากคำแนะนำของ Anil Lewis กรรมการบริหารของ National Federation of the Blind Jernigan Institute กล่าวว่าความพิการเป็นลักษณะเฉพาะของเรา แต่ไม่ใช่นิยามที่กำหนดคุณค่าของตัวเรา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของคนไร้บ้านคงเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนในกลุ่มจะจุดประกายเรื่องนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม สังคมภายนอกมีแนวโน้มที่จะทำความเข้าใจกลุ่มคนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการศึกษาสภาพจิตใจของคนไร้บ้านผู้พิการด้วย ความหวังที่จะให้พี่เล็กและคนไร้บ้านอื่นๆ มองเห็นคุณค่าในตัวของตนเองจึงมีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

bottom of page