top of page

ลุงเพิ่ม-ป้าจำปี: ความรัก อนาคต และความฝัน ในวันที่ไม่มีเงินกินข้าว

ความฝันเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาแสนนาน มันคือแรงบันดาลใจ คือสิ่งที่ทำให้เราเฝ้ารออนาคตที่บางครั้งก็ไม่แน่นอน ทว่าในขณะที่หลายคนวาดฝันไกลถึงเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ คนบางกลุ่มอาจรอเพียงแค่ข้าวสักมื้อหรือเงินเพียง 50 บาท

Love on The Street ขอชวนทุกท่านรู้จักกับลุงเพิ่ม-ป้าจำปี คู่รักคนไร้บ้านที่มีความฝันและอนาคตที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปมากกว่าการได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ของพวกเขาได้อย่างแท้จริง


..........................................


ลุงเพิ่ม: นักพเนจรบนท้องถนน ชีวิตที่ไร้บ้านตั้งแต่เด็กจนโต



ลุงเพิ่ม(นามสมมติ)เป็นชายวัย 58 ปี พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ แกจำต้องออกมาใช้ชีวิตบนท้องถนนเพียงลำพังตั้งแต่อายุ 10 กว่าๆ เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน นับว่าลุงเพิ่มมีประสบการณ์เป็นคนไร้บ้านกว่า 40 ปีเลยทีเดียว ลุงเล่าให้ฟังว่าชีวิตของลุงเป็นการ “พเนจร” ไปเรื่อยๆ

ด้วยประสบการณ์ที่ช่ำชองบนท้องถนน ลุงเพิ่มจึงเคยทำงานหลายอย่างเพื่อเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน ตั้งแต่รับจ้างทั่วไปอย่างขนของ ทำความสะอาด ดูแลผู้ป่วย ไปจนถึงอาชีพที่แกชื่นชอบที่สุดอย่างขับรถแท็กซี่ ที่แกเริ่มทำได้ตั้งแต่ปี 2543 แม้การขับแท็กซี่จะดูเป็นอาชีพที่มั่นคงในระดับหนึ่ง แต่การไม่มีรถเป็นของตนเองทำให้ลุงเพิ่มจำต้องเช่ารถในแต่ละวันซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ดังนั้นก็จะมีทั้งวันที่ได้กำไรบ้าง ที่เท่าทุน และก็ขาดทุน

วันหนึ่งขณะที่ขับแท็กซี่จนเหนื่อยล้า ลุงเพิ่มก็ได้พบกับป้าจำปี

“ลุงขับแท็กซี่มาจอดนอนแถวนี้ เจอกัน ก็คุยกัน เราไม่มีที่อยู่ เค้าก็ไม่มีที่อยู่ ก็ชวนมานอนรถ ไปไหนไปกัน”

ลุงเพิ่มเล่าด้วยท่าทีสบายๆ ปัจจุบันแกอยู่กินกับป้าจำปีมาได้ราว 2 เกือบ 3 ปีแล้ว


..........................................


ป้าจำปี: จากคนสุพรรณฯ ผันตัวมาอาศัยที่ย่านสนามหลวง


ป้าจำปี(นามสมมติ) อายุ 51 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี แกเป็นคนพิการ ตาข้างซ้ายบอดสนิท ส่วนข้างขวามองเห็นเพียงรางๆ หลังจากพ่อแม่ของป้าเสีย แกก็ไร้ที่ทางไป ครั้งหนึ่งป้าจำปีเคยอาศัยกับญาติที่สมุทรปราการ แต่สุดท้ายก็ออกมาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ กับสนามหลวงบริเวณตรอกสาเก ครั้นถามว่าแกอยู่อย่างนี้มาได้กี่ปีแล้ว ป้าจำปีก็ทำท่านึก ก่อนตอบว่าอยู่มานานมาก ตั้งแต่ก่อนที่รัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคตเสียอีก

ป้าจำปีประทังชีวิตจากการรับอาหารแจกและเบี้ยเลี้ยงคนพิการ 800 บาทที่จะได้ทุกๆ วันที่ 10 ของเดือน ทว่าตั้งแต่ได้พบกับลุงเพิ่ม ก็ดูเหมือนจะมีแสงสว่างส่องเข้ามาในชีวิตป้ามากขึ้น

“เค้าไม่มีที่อยู่ เราก็ไม่มีที่อยู่ ก็ลำบาก จนเหมือนกัน”

ป้าจำปีเสริมที่ลุงเพิ่มเล่าถึงเหตุการณ์การเจอกันของพวกเขาครั้งแรก คงเป็นเพราะความคล้ายคลึงกันนี่เองที่ทำให้ทั้งสองคนเข้าใจกันได้ดี พวกเขาต่อสู้กับความลำบากด้วยกัน เข้าใจถึงรสชาติของการอดมื้อกินมื้อเหมือนกัน และยังนอนบนพื้นปูนที่ปูด้วยฟูกบางๆ อันระคนไปด้วยไอฝุ่นด้วยกัน



..........................................

จะอยู่กันได้ไหม หากฉันไม่มีเงิน


ปัจจุบันลุงเพิ่มและป้าจำปีจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่รออยู่ข้างหน้าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะลุงเพิ่มต้องเลิกอาชีพขับแท็กซี่เพราะเงินทุนไม่พอ ในขณะที่เบี้ยเลี้ยงคนพิการของป้าจำปีก็น้อยนิดไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูทั้งคู่ ซ้ำร้ายด้วยอายุของลุงเพิ่มที่มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับโรคหอบทำให้แกทำงานที่ใช้แรงมากๆ ไม่ได้แล้ว สถานะทางการเงินของทั้งคู่จึงอยู่ในระดับที่ร้ายแรง

กระนั้นแม้จะอยู่ในสภาวะดังกล่าว ลุงเพิ่มยังยืนยันว่าในเรื่องของความสัมพันธ์นั้น “เงินไม่มีก็ไม่เป็นไร บางทีก็แทบจะไม่มีเลยสักบาท” ซึ่งแม้ว่าทั้งสองคนจะทะเลาะกันบ้างตามประสาของชีวิตคู่ แต่ไม่เคยสักครั้งที่เงินจะเป็นเหตุแห่งการเบาะแว้ง ดั่งที่ป้าจำปีพูดถึงคติการใช้ชีวิตของพวกเขาว่า


“เราอยู่ด้วยกันเพื่อความดีต่อกัน เราไม่โกหกกัน อยู่ด้วยกันเราก็พูดตรงไปตรงมา ไม่โกหกกัน แต่ก็ไม่เคยทะเลาะกันนะ ไม่มีเงินเราก็ไม่ทะเลาะกัน”


ด้วยภาวะที่แร้นแค้นไม่มีโอกาสแม้แต่จะเฉลิมฉลองวันแห่งความรักเหมือนคนทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ใส่ใจกันและกัน ป้าจำปีมีข้อจำกัดในการมองเห็น หลายครั้งจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ยามป้าไม่สบาย ก็ได้ลุงเพิ่มมาคอยช่วยดูแล


“มีอะไรลุงก็เป็นคนดูแลป้า ช่วงนั้นป้าไม่ค่อยสบาย ลุงไปซื้อน้ำเปล่า ซื้อมาแล้วเอาผ้ามาเช็ดตัวให้ป้า”


..........................................


แด่ความฝันที่อาจเป็นจริง จงหวังแม้ในวันที่มืดมิด


ภาพจาก Facebook: จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา


ทุกวันนี้ทั้งคู่นอนประจำอยู่ที่หน้าวัดบุรณศิริมาตยารามที่อยู่ไม่ไกลจากตรอกสาเกมาก ด้วยเหตุผลว่าตรงนี้ไม่ค่อยมีคนเกเรหรือคนเมา อีกทั้งยังใกล้ป้ายรถเมล์ที่สะดวกต่อการเดินทาง แต่ถึงจะได้ที่ที่คิดว่าทำเลดีแล้ว ก็ยังหนีการถูกไล่ที่ไม่พ้น


“เคยมีเทศกิจมาไล่ คือการมาไล่ เราก็บอกเค้าดีๆ ว่าเราไม่มีทางไป เค้าทำไม่ถูก เค้ามาไล่เค้าก็น่าจะรู้ว่าเราจน เราไม่มีทางไป ถามว่าลุงชอบไหม ลุงก็ไม่ชอบ”

“เราอยู่ตรงไหน ตรงไหนที่สบายใจ (แต่)เราก็จะไม่อยู่ตรงนี้ตลอดไปหรอก”


ป้าจำปีแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะไม่ปักหลักอยู่ที่นี่จนชั่วชีวิต ด้านลุงเพิ่มเองก็หวังว่าพวกเขาอาจจะได้ที่พักจาก “โครงการจ้างวานข้า”

โครงการจ้างวานข้า เป็นโครงการจ้างงานคนไร้บ้าน จัดขึ้นโดยมูลนิธิกระจกเงา ทางมูลนิธิเล็งเห็นว่าคนไร้บ้านมีต้นทุนทางชีวิตต่ำ ขาดเงินทุนในการยกระดับสภาพเศรษฐกิจส่วนบุคคล จึงจัดตั้งโครงการนี้เพื่อหารายได้ให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่สาธารณะ โดยเน้นไปที่การจ้างงานที่ใช้ทักษะพื้นฐาน เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนใหญ่ยังขาดทักษะเฉพาะของอาชีพบางอย่าง

ลุงเพิ่มเล่าว่า หากคนไร้บ้านทำงานในโครงการได้ครบหนึ่งเดือน พวกเขาจะอาศัยอยู่ในบ้านได้ช่วงในเดือนแรก ก่อนจะต้องจ่ายค่าเช่าตามปกติในเดือนถัดไป ทั้งนี้ทั้งสองเพิ่งได้งานในโครงการดังกล่าวไป ปลุกความหวังที่ของลุงเพิ่มและป้าจำปีที่อาจจะมีบ้านอีกครั้งขึ้น


แต่การได้งานนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน ด้วยที่ตั้งของมูลนิธิที่อยู่ถึงเขตหลักสี่ ทำให้นอกจากจะต้องออกเดินทางแต่เช้ามืดแล้วยังต้องคิดคำนวณค่าเดินทางให้ครบถ้วน รวมเป็นเงินที่มากเกินกว่าจะจ่ายไหว


“อย่างพรุ่งนี้ลุงก็หนักใจเหมือนกันว่าจะหาปัญญาที่ไหนหาค่ารถไป พรุ่งนี้ลุงต้องไปทำงานที่มูลนิธิ ต้องรีบไปทำงานตั้งแต่ตี 5 เพราะมันอยู่ไกล ลุงต้องนั่งรถไปที่แจ้งวัฒนะ ถึงวิภาวดีซอย 64 ค่ารถสองคนประมาณ 50 กว่าบาท กินน้ำด้วยอะไรด้วย”

“ก็ต้องไปให้ได้ ทีนี้ถามว่าพรุ่งนี้ลุงต้องใช้ชีวิตแบบไหน จะหาข้าวที่ไหนกิน เพราะหนึ่งเราต้องกินแล้วหนึ่งมื้อ เค้าเลี้ยงมื้อเดียวคือมื้อเที่ยง มื้อเช้าเรากินเอง แต่ถามว่างานเขามีให้ไหม มี เค้ามีให้เรา”


ค่ารถ 50 บาทที่ลุงเพิ่มว่านั้น โดยคร่าวๆ แจกแจงเป็นค่ารถโดยสาร ค่ารถจักรยานยนต์ไปถึงที่ทำงาน รวมถึงค่าน้ำดื่ม ลุงยังพูดถึงสภาวะที่ไร้อาหารเช้าตกถึงท้อง ซึ่งแม้ว่าเดิมทีลุงเพิ่มจะอดมื้อกินมื้อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานต้องอาศัยพลังงานที่มากกว่าปกติ


“ก็กินข้าวครบบ้างไม่ครบบ้าง ถ้าไม่มีมาแจกเราก็ไม่ได้กิน ถ้ามีมาแจกก็คือจุดนู้น แต่ถามว่าคนเยอะไหม ก็อย่างเนี้ย เยอะมาก เราก็ต้องทน”


ลุงเพิ่มชี้นิ้วไปที่จุดแจกอาหารของมูลนิธิอิสรชนที่แจกจ่ายทุกวันอังคารของสัปดาห์ แต่ด้วยจำนวนคนที่มารับอาหารเยอะมากทำให้บางครั้งแกก็ไม่ได้ทานข้าว


“เราก็ยืนรอ เราได้ไม่ได้เราก็ไม่เสียใจ เพราะคนลำบากกว่าเรายังมีอีกเยอะ เรายังมีงานทำ”


ป้าจำปีกล่าวถึงการรับอาหาร ลุงเพิ่มเสริมว่าว่า “ต้องแบ่งปันกันไป” ทัศนคติที่มีน้ำใจและแบ่งปันคนอื่นก็มาจากการที่แกเคยเจอคนให้ความช่วยเหลือมาก่อน ครั้งหนึ่งลุงเพิ่มนอนอยู่ที่ท่าน้ำ ตกกลางคืนอยู่ๆ ก็มีรถมาจอดแจกอาหารและเรียกแกมารับข้าว

ถ้าหากได้ที่อยู่จากโครงการจ้างวานข้าแล้ว ความฝันของลุงเพิ่มก็คือช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยกันเช่นกัน นอกจากนี้แกยังหวังว่าจะได้กลับไปทำงานขับแท็กซี่อีกครั้ง ส่วนป้าจำปีมีความฝันที่จะขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งสองงานจำเป็นต้องมีเงินลงทุนค่ามัดจำ โดยค่าซื้อสลากกินแบ่งอยู่ในราคาหลักหมื่นเลยที


"ป้าไปขอล็อตเตอรี่เขาอยู่ อยากขายหวย ป้าอยากขายหวย สามหมื่นเขาให้โควตา 5 เล่ม"


แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ความฝันของทั้งคู่จะเป็นจริงหรือไม่ แต่พวกเขายังคงย้ำตลอดการสนทนาครั้งนี้

“เราผ่านความลำบากมาด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งกัน”

bottom of page